จากบทความ Quality Content ในสายตา Google (ตอนที่ 1) … เนื่องจากเราไม่ได้จะไปเป็น Raters หากแต่เราเป็น คนทำ SEO หรือ คนทำงานในสาย Internet Marketing หรือ ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้าง Content
คำถามคือ เราจะได้อะไรจากคู่มือ Quality Rater Guidelines ฉบับนี้ ??
ผมพยายามนั่งคิดและหาคำตอบ จนได้บทสรุปที่จะนำมาแชร์ให้กับท่านทั้งหลายได้อ่านกัน
และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจะขอนำเสนอในรูปแบบของ คำถาม-คำตอบ (FAQs) นะครับ
ขอทำความเข้าใจกันก่อน
1. บทความที่จะอ่านต่อไปนี้ เป็นความเห็นส่วนตัว เรียบเรียงตามความเข้าใจของผมเอง
2. เนื้อหาและคำศัพท์ต่างๆ ที่หยิบมานำเสนอเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จาก Quality Rater Guidelines
3. เนื้อหาที่จะกล่าวนี้ไม่เกี่ยวกับปัจจัยของการจัดอันดับ Google โดยตรง
4. เนื้อหาที่จะกล่าวนี้ เป็นเพียงแนวทางและค่าปัจจัยต่างๆ ที่ Google Raters ใช้ประเมินคุณภาพเว็บ
5. หากคุณไม่ใช่คนทำ SEO มืออาชีพ แนะนำให้ข้ามไปอ่านบทสรุปได้เลยครับ
6. แต่หากคุณมีความสนใจในการทำ SEO แบบจริงจัง แนะนำให้ลองศึกษาและทำความเข้าใจคู่มือฉบับนี้ดู เพราะผมเชื่อว่า มันจะทำให้คุณ เข้าใจ Google ได้มากขึ้น (ไม่มากก็น้อยนะ)
7. หากอ่านแล้วงงมาก ผมแนะนำให้กดลิงค์ตัวอย่างในคู่มือต้นฉบับ (มีเยอะมาก) จะช่วยทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
8. จงอย่ายึดติด !! และโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและทำความเข้าใจ
9. หากมีข้อผิดพลาดอะไรขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
ถาม-ตอบ ประเด็นสำคัญใน Quality Rater Guidelines
Q: Content ในสายตา Google มีองค์ประกอบอะไรบ้าง
A: “Content” หรือ “เนื้อหา” ทั้งหมดบนหน้าเว็บเพจหนึ่งๆ Google จะมองเป็นส่วนๆตามโครงสร้างเว็บ
ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการออกแบบเว็บนั้นเอง (Webpage Design) โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. Main Content (MC) – ส่วนหลักของเว็บเพจที่ตอบโจทย์ของวัตถุประสงค์ในการสร้างหน้านั้นขึ้นมา
ซึ่งอาจจะเป็น Text (ข้อความ) , รูปภาพ , วีดีโอ เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจจะนับรวมไปถึง คอมเม้นท์จากผู้อ่านด้วย
2. Supplementary Content (SC) – “เนื้อหาส่วนเสริม” ในที่นี้มีขึ้นเพื่อสร้างใช้งานที่ดี (Good User Experience)
ในหน้าเพจนั้นๆ แต่ไม่ได้มีส่วนโดยตรงสำหรับให้บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น Navigation (เมนู) , Relate Posts , Sidebar , Footer เป็นต้น
3. Advertisments/Monetization (Ads) – Banner โฆษณา Sponsored ต่างๆ ที่วางไว้เพื่อสร้างรายได้ให้กับเว็บ
Google ไม่ได้เน้นความสวยงามหรือหน้าตาของเว็บ แต่คำนึงถึงการใช้งาน (User Experience) และ จุดประสงค์ของหน้าเพจ (Purpose of Webpage) เป็นหลัก
Q: ตัวอย่างของจุดประสงค์ในการสร้างหน้าเว็บ (Purpose of Webpage) มีอะไรบ้าง ?
A: ทุกหน้าเพจบนอินเตอร์เนต ไม่ว่าจะเป็น shopping pages, news pages, forum pages, video pages, pages with error messages, PDFs, images,gossip pages, humor pages, Homepages รวมไปถึงหน้าเพจลักษณะอื่นๆ ล้วนถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือหลายอย่าง)ยกตัวอย่างเช่น
– เพื่อแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง (Topic)
– เพื่อแชร์ข้อมูลส่วนตัว
– เพื่อแชร์รูปภาพ วีดีโอ
– เพื่อแสดงความคิดเห็น
– เพื่อสร้างความบันเทิง
– เพื่อขายสินค้าหรือบริการ
– เพื่อให้ผู้ใช้งานตั้งคำถาม
– เพื่อให้ผู้ใช้งานแชร์ไฟล์หรือดาวน์โหลด
การตัดสินคุณภาพของเว็บเพจแต่ละหน้านั้น หัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง คือดูว่า หน้าเพจนั้นตอบโจทย์ของวัตถุประสงค์ในการสร้างมันขึ้นมา มากน้อยแค่ไหน
Q: Quality Content ในสายตาของ Google ใช้ปัจจัยอะไรบ้างในการวัดคุณภาพ
A: แนวทางที่ Google บอกให้ Human Raters ใช้ประเมินและให้คะแนน Webpage/Content จะใช้ 2 ปัจจัยหลัก
คือ คุณภาพ (Page Quality Rating) และ คุณประโยชน์ (Utility Rating)
Q: Page Quality Rating คืออะไร
A: Page Quality Rating (PQ) คือคะแนนที่ให้โดยทีมงาน Quality Raters ซึ่งเป้าหมายหลักๆของ PQ เพื่อบอกว่า หน้าเพจนั้นๆมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน โดยหัวใจสำคัญของการประเมินคุณภาพอยู่ที่ หน้าเพจนั้นตอบโจทย์ของวัตถุประสงค์ในการสร้างมันขึ้นมามากน้อยแค่ไหน
ซึ่งการให้คะแนนจะแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ Lowest – Low – Medium – High – Highest (แยกย่อยได้อีก 9 ระดับ)
Q: ลักษณะของ Page Quality ที่มีแนวโน้มจะได้คะแนนสูง เป็นอย่างไร
A: เพจ หรือ เว็บไซต์ ที่มีคุณภาพสูง (หรือมี High Quality Content นั้น) จะมีคะแนน PQ ถูกจัดอยู่ในระดับ High มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. High Quality MC
– Main Content หรือเนื้อหาหลักมีคุณภาพสูงและจำนวนเหมาะสม
จุดประสงค์ของหน้าเพจจะเป็นตัวช่วยในการประเมินคุณภาพของ Main Content ยกตัวอย่างเช่น
• Main Content สำหรับ สารานุกรม (encyclopedia) ควรที่จะให้ข้อเท็จจริง ถูกต้อง ชัดเจนและครอบคลุม
• Main Content สำหรับ Shopping ควรที่จะง่ายต่อการค้นหาสินค้า หรือ สั่งซื้อ
โดยทั่วไปแล้ว High Quality MC จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ เวลา, ความพยายาม, ความเชี่ยวชาญ และ ทักษะหรือสกิล
2. High Level of E-A-T
– ดูมีความน่าเชื่อถือสูง เช่น สร้างจากผู้เชี่ยวชาญ หรือ องค์กร หรือ ทีม Editorial ประจำ หรือจากบุคคลที่มีชื่อเสียง
(ยกตัวอย่างเช่น Music Video บน Youtube หากมี High E-A-T ดูง่ายๆ เช่น Official MV จากทางค่ายเพลง เป็นต้น)
3. Positive Reputation
– มีชื่อเสียงที่ดี และมีชื่อเสียงในแง่บวก
(ชื่อเสียงของเว็บไซต์ มีพื้นฐานจากประสบการณ์ของผู้ใช้งานจริง รวมถึงความคิดเห็นของผู้คน เช่น รีวิว, คอมเม้นต์)
4. Helpful Supplementary Content
– มีการจัดวาง SC ที่ดี สะดวกต่อการใช้งานของผู้ชม (เช่น พวก เมนู Sidebar Footer ต่างๆ)
5. Functional Page Design
– การออกแบบที่เอื้อต่อการใช้งาน (User Experience) เช่น MC ควรอยู่ด้านหน้า เห็นง่าย เด่นชัด, SC และ Ads ควรวางในตำแหน่งที่เหมาะสม
6. A Satisfying Amount of Website Information
– มีข้อมูลเว็บไซต์ครบถ้วนถูกต้องชัดเจน เช่น หน้า About us, Contact Us, Service Information เป็นต้น
7. A Well Cared for Maintenance and Updates
– ในที่นี้หมายถึงการตรวจเช็คสภาพเว็บ เช่น เช็คลิงค์ไม่มีเสีย , รูปภาพโหลดแสดงผลปกติ เป็นต้น รวมถึงมีการอัพเดทของข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ และชนิดของ Content
3 อันดับของปัจจัยที่ใช้พิจารณาการประเมินให้คะแนน Page Quality ในฐานะ Human Rater คือ
อันดับ 1 = Quality and Quantity of Main Content
อันดับ 2 = Level of E-A-T of the page and the website
อันดับ 3 = Reputation of the website
Q: E-A-T คืออะไร
A: Expertise/Authoritativeness/Trustworthiness หรือ E-A-T (ไม่ได้แปลว่า กินนะ 555+)
Expertise = ความเชี่ยวชาญ (การแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว ก็ถือเป็นความเชี่ยวชาญในรูปแบบหนึ่ง)
Authoritativeness = ความมีอำนาจ (หมายถึงเป็นศูนย์กลางของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นที่นิยม มีชื่อเสียง)
Trustworthiness = ความน่าเชื่อถือ
เพจหรือเว็บไซต์ที่มีคุณภาพสูงจำเป็นต้องดูมีความเชี่ยวชาญ/ความน่าเชื่อถือ ในหัวข้อที่นำเสนอ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกเพจต้องมี E-A-T ระดับสูงโดยทั้งหมด สิ่งสำคัญอยู่ที่ Topic (หัวเรื่อง) ของหน้าเพจนั้น ว่าจำเป็นต้องอาศัยความน่าเชื่อถือสูงมากแค่ไหนเพื่อให้ตอบโจทย์ของจุดประสงค์ในการสร้าง ยกตัวอย่างเช่น
– หน้าที่ให้ข้อมูลด้านการแพทย์ ก็ควรจะถูกเขียนโดยบุคลากรหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องแพทย์
– หน้าที่เกี่ยวกับสอนถ่ายรูป ก็ควรจะถูกเขียนหรือนำเสนอโดยช่างภาพ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในการถ่ายภาพ
Q: YMYL Pages (Your Money or Your Life Pages) มีลักษณะยังไง
A: เว็บเพจบางหน้ามีผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต เช่น สุขภาพ หรือ การเงิน ยกตัวอย่างเช่น
– หน้า Shopping หรือ หน้าที่ทำธุรกรรมทางการเงิน
– หน้าที่ให้ข้อมูลทางการเงิน
– หน้าที่ให้ข้อมูลทางการแพทย์
– หน้าที่ให้ข้อมูลทางด้านกฎหมาย
หน้าเพจที่เข้าข่ายในลักษณะ YMYL จำเป็นต้องใช้มาตรฐานสูงกว่าปกติในการตัดสินคุณภาพ
เพราะหน้าเพจเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของผู้ใช้งานได้ (ผู้ชม/ผู้อ่าน)
และแน่นอนว่า ควรจะมี E-A-T สูง
Q: ลักษณะของ Lowest Quality Page หน้าที่ถูกจัดว่าอยู่ในระดับต่ำสุด เป็นอย่างไร
A: เพจ หรือ เว็บไซต์ ที่มีคุณภาพต่ำสุดนั้น Google แนะนำ Raters ให้ดูในลักษณะดังต่อไปนี้
1. Harmful or Malicious Pages (หน้าเพจที่เป็นอันตราย เช่น ฝั่งไวรัสหรือมีสคิปที่เป็นภัยคุกคาม)
2. Lack of Purpose Pages (หน้าเพจที่ไร้จุดประสงค์ คือไม่รู้หรือตอบได้ยากว่าสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร)
3. Deceptive Pages (หน้าที่สร้างมาเพื่อหลอก Search Engine)
4. Lowest Quality Main Content (เข้าข่าย Main Content ที่คุณภาพต่ำสุด)
– No Main Content (ไม่มี Main Content)
– Keyword Stuffed in Main Content (ใส่ Keyword มากจนเกินไป)
– Gibberish or Meaningless Main Content (เนื้อหาที่ไร้สาระหรือไม่มีความหมาย)
– Automatically-Generated Main Content (เนื้อหาที่สร้างแบบอัตโนมัติ เช่น สปินบทความ แล้วไม่ตรวจทานก่อน)
– Copied Main Content (เนื้อหาที่ COPY มา … อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาที่ COPY ด้านล่าง)
5. No Website Information (ไม่มีข้อมูลของเว็บไซต์เช่น About us, Contact Info)
6. Highly Untrustworthy, Unreliable, Unauthoritative, Inaccurate, or Misleading (เพจที่ดูไม่น่าเชื่อถือ เช่น Scam หรือ phish ดักพาส หรือมีลิงค์ Download ที่น่าสงสัย)
7. Abandoned Websites or Spammed Pages on a Website (เว็บที่ถูกปล่อยทิ้งหรือสแปม)
8. Extremely Negative or Malicious Reputation (เว็บที่มีชื่อเสียงในทางลบ)
Q: คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Copied Main Content ?
A: วิธีการสร้าง Main Content ที่ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือ ความเชี่ยวชาญ นั่นก็คือการ Copy จากแหล่งข้อมูลอื่น (Google จะไม่นับ “Legitimately Licensed” หรือ “Syndicated Content” ว่าเป็นการ Copy)
การ COPY ในสายตา Google อาทิเช่น
– เนื้อหาที่มีการคัดลอกแบบเหมือนต้นฉบับ 100% (ไม่ว่าจะทั้งหน้า หรือบางส่วน)
– เนื้อหาที่มีการคัดลอกแต่ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยจากต้นฉบับ (อาจจะบางคำ หรือ บางประโยค)
– เนื้อหาที่มีการคัดลอกมาจาก SERPs หรือ News Feed
ซึ่งวิธีการเช็ค Content ที่คัดลอกมานั้น Google แนะนำให้ Raters พิมพ์ประโยคแล้วคล่อมด้วย ” ” ในช่องค้นหา จากนั้นเช็คดูเปรียบเทียบว่า MC ส่วนใหญ่เหมือนกันหมดหรือไม่ ถ้าเหมือน ให้ดูว่ามาจาก Authoritative Source หรือไม่ ดูเวลาที่ Published , ดูว่าแหล่งไหนควรจะเป็นต้นฉบับ แต่สิ่งสำคัญที่สุดและน่าสังเกตคือ ข้อความที่ว่า
“The Lowest rating is appropriate if all or almost all of the MC on the page is copied with little or no time, effort, expertise, manual curation, or added value for users. Such pages should be rated Lowest, even if the page assigns credit for the content to another source.”
ซึ่งมันหมายถึง ถ้าคุณ Copy มา แต่ไม่ได้สร้างคุณค่าต่อคนอ่านเลย แม้จะใส่เครดิตก็ยังจัดว่าคะแนนต่ำสุด!!
(เหมือนมันจะบอกว่า คุณคัดลอกมาได้เหมือนกันนะ ถ้าหาก …. มีประโยชน์และที่สำคัญคือมีคนเข้ามาอ่าน)
ลองพิมพ์ Search คำว่า – [“อะไรคือ DIGITAL MARKETING”] ดูครับ จะเห็นตัวอย่าง COPY ที่ชวนสงสัย
จากนั้นพิมพ์ [อะไรคือ DIGITAL MARKETING] และพิมพ์หาคำว่า [digital marketing คืออะไร] …
น่าสงสัยใช่มั้ย ? มี 3 หน้าที่ COPY เหมือนกันเป๊ะ แต่มันก็ติดอันดับอยู่ต้นๆ เพราะว่ามีคนเข้าไปอ่าน!!
Q: Utility Rating คืออะไร
A: จุดประสงค์หลักของหน้าที่ Google Raters ก็เพื่อช่วยพัฒนาให้ Google Search Engine มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น Google พยายามจะแสดงผลการค้นหาที่ดีที่สุด และเป็นประโยชน์มากที่สุดต่อผู้ค้นหา (ตามภาษาและตำแหน่งที่อยู่)
ดังนั้น นอกเหนือจาก Page Quality Rating แล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญก็คือ Utility Rating (คะแนนคุณประโยชน์)
โดยค่าของคุณประโยชน์จะถูกประเมินออกมาในลักษณะที่ อิงกับ
1. คำที่ใช้ในการค้นหา (Query)
2. ความตั้งใจของผู้ค้นหา (User Intent)
และโฟกัสไปที่หน้าของ Serps (หรือที่ทาง Google เรียกว่า Result Blocks)
ซึ่งค่าทั้งหมดจะถูกประเมินออกมาเรียกว่า Block Utility Rating (BU)
โดย ค่า Utility Rating นี้ จะแบ่งสเกลคะแนนออกเป็น
– Vital (V) = จำเป็น
– Useful (U) = มีประโยชน์
– Relevant (R) = เกี่ยวข้องสอดคล้อง
– Slightly Relevant (SR) = เกี่ยวข้องสอดคล้องเล็กน้อง
– Off Toptic/Useless (OT) = นอกเรื่อง หรือ ไม่มีประโยชน์
Q: Result Blocks หรือ Block Result Rating (BU) คืออะไร
A: Result Blocks คือผลลัพท์ที่แสดงบนหน้า SERPs นั่นเอง โดยผลลัพท์ที่แสดงนั้นมีองค์ประกอบ
คือ Title – Url – Snippet ซึ่งการจะเกิดผลของ Result Blocks ได้นั้น จะต้องมีส่วนที่เกี่ยวข้องคือ
1. Query – หมายถึง คำค้นหา ที่ผู้ใช้ค้นหาจริง โดยจะแฝงไปด้วยความตั้งใจ (User Intent) ด้วย
2. Landing Page (LP) – ในที่นี้หมายถึง หน้าที่แสดงให้เราเห็นหลังคลิกเข้าไปจาก SERPs
Block Result Rating หรือ BU ก็คือ การประเมินให้คะแนน Result Blocks นั้นเอง
Q: เกี่ยวกับ Query & User Intent
A: ในการที่จะประเมิน Utility Rating นั้น Google ได้แนะนำ Raters ว่าต้องมีความเข้าใจใน “คำค้นหา” (Query) เสียก่อน เนื่องจาก คำค้นหา แต่ละคำ มีความหมายได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น คำค้นหาคือ [apple] มันอาจจะสื่อได้ถึง บริษัท Apple หรือ ผลไม้ หรือ ชื่อคน หรือ ชื่อเมือง เป็นต้น
โดยต้องพยายามทำความเข้าใจว่า ผู้ค้นหา ต้องการค้นหาอะไร จาก คำค้นหาที่พวกเขาพิมพ์ ซึ่งเรียกว่า
“User Intent” … หากแบ่งให้ง่ายขึ้นต่อการทำความเข้าใจ จะแบ่งหมวดหมู่ของ User Intent ได้เป็น
1. Action Intent หรือ Do : ผู้ค้นหาต้องการกระทำบางสิ่ง เช่น
– Query = flowers ผู้ค้นหาอาจจะต้องการสั่งซื้อดอกไม้ออนไลน์ หรือ หารูปภาพของดอกไม้
– Query = download adobe reader ผู้ค้นหาต้องการจะดาวน์โหลดโปรแกรม
2. Information Intent หรือ Know : ผู้ค้นหาต้องการรู้บางสิ่ง เช่น
– Query = thailand ผู้ค้นหาน่าจะต้องการหาข้อมูลท่องเที่ยว หรือ ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย
– Query = วิธีทำ SEO ผู้ค้นหาน่าจะต้องหาหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการทำ SEO
3. Navitagion Intent หรือ Go : ผู้ค้นหาต้องการจะไปที่เว็บไซต์หรือเว็บเพจเฉพาะเจาะจง เช่น
– Query = youtube ผู้ค้นหาน่าจะต้องการเข้าเว็บ Youtube
– Query = sony customer support ผู้ค้นหาน่าจะต้องการเข้าไปที่หน้า support ของเว็บ sony
Q: สรุปเกี่ยวกับ Utility Rating
A: เรื่องของ Utility Rating นั้นอธิบายค่อนข้างยาก และเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจำเป็นกับเรานักในฐานะที่ไม่ได้เป็น Human Raters ผมจึงขอไม่เจาะลึกลงไปมากนัก แต่หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่ม ให้อ่านและดูตัวอย่างในคู่มือต้นฉบับนะครับ
โดยสรุปของ Utility Rating หรือ Block Utility Rating (BU) ในคู่มือนั้น มีนัยยะที่สื่อให้เราเข้าใจได้ว่า
นอกเหนือจาก คุณภาพของเนื้อหาแล้ว Google ยังมองไปที่ คุณประโยชน์ด้วย ว่า หน้าเพจที่เราสร้างมานี้
ต้องการสื่ออะไร และจะให้ประโยชน์อะไรแก่ผู้ที่คลิกเข้ามาดู ที่สำคัญคือ ความเกี่ยวข้อง สอดคล้อง
ระหว่างเนื้อหาที่เราสร้างขึ้น กับ คำค้นหาที่คนใช้ค้นหา มีมากน้อยแค่ไหน !!
บทวิเคราะห์จากคู่มือ Raters ในการสร้าง Quality Content
จาก Quality Rater Guidelines บ่งบอกเราในฐานะ คนทำ SEO / Online Marketer / Content Creator
ว่า “Quality Content ที่ ถูกใจ Google” ควรจะอาศัยแนวทางการในสร้าง ดังนี้
1. พยายามสร้าง Content ที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือ มืออาชีพ หรือ มีประสบการณ์ ในเรื่องนั้นๆ
2. อัพเดท Content เก่าๆ หากมันจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล
3. การอ้างอิง (Link หรือ ข้อความ) ควรอ้างอิงไปที่แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสอดคล้องหรือมีหัวข้อเดียวกับเรา
4. พยายามสร้างให้ลูกค้าหรือผู้ชมเว็บกล่าวถึงเราในทางที่ดี เช่น Review หรือ Comment ตามโซเชียลหรือเว็บต่างๆ
5. ให้ความสำคัญกับจุดที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่สำคัญในหน้าเพจ นั่นก็คือ Supplementary Content (Navigation, Footer, Sidebar ถ้ามี)
6. หมั่นอัพเดทเพิ่มเติม Content ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ตามความเหมาะสม
7. แสดงข้อมูลของเว็บไซต์ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน (About Us, Contact Info, Customer Service Info)
8. ตรวจเช็คเนื้อหา คำสะกดผิดต่างๆ แก้ไขให้ถูกต้อง และ ตรวจสอบการเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์
9. ออกแบบโครงสร้างเว็บให้ User-Friendly เอื้อต่อการใช้งานของผู้ชมเว็บ (MC เด่นชัด, SC ใช้สะดวก, Ads ตำแหน่งเหมาะสม)
10. เนื้อหาที่เราสร้างควรมีประโยชน์ต่อผู้ชมผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (เช่น ให้สาระ/ให้ความบันเทิง/ให้ความสะดวก เป็นต้น)
11. เนื้อหาที่เราสร้างควรมีความสอดคล้องหรือเกี่ยวข้อง กับ “คำค้นหา” (Query) ที่ผู้ค้นหาใช้
(ประเด็นนี้ เราจะไปถกกันในเรื่องของเทคนิค Keyword Analysis กันต่อไปครับ)
บทสรุปส่งท้าย
การได้อ่านและทำความเข้าใจคู่มือของ Quality Raters นี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก (สำหรับตัวผม)
แม้ข้อมูลต่างๆจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับเว็บไซต์ แต่มันก็สื่อเป็นนัยยะให้ผม
ในฐานะคนทำเว็บและคนทำ SEO มีความเข้าใจ Google มากยิ่งขึ้น (ว่ามันช่างซับซ้อนยิ่งนัก ปวดกบาลแท้ 555+)
โดยมันเหมือนเป็นการตอกย้ำวลีที่พวกเราคุ้นหูกันดี นั่นก็คือ … “Content is King“
JoJho
คนทำเว็บนอกคอก
หัวใจหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ Google ใช้ในการจัดอันดับเว็บ คือ เนื้อหาที่มีคุณภาพ (Quality Content) และ เนื้อหาที่มีคุณภาพ ในสายตาของ Google ก็อาศัยพื้นฐานมุมมองในสายตาของ User ซึ่งก็คือ ผู้ค้นหา นั่นเอง ดังนั้นการสร้าง Quality Content ที่ดีนั้น เราจึงควรที่จะคิดถึง คนอ่าน-คนชม-คนดู ให้มากๆ