ในการทำ SEO นั้น หลายคนคงเคยสงสัยและตั้งคำถามขึ้นในใจไปต่างๆนานา เกี่ยวกับการจัดอันดับของ Google บางคำถามก็หาคำตอบได้ แต่บางคำถามก็ไม่รู้ว่าจะหาคำตอบได้จากไหน จึงต้องอาศัยการคาดเดา จากการทดลองทำ SEO ด้วยตัวเอง …ซึ่งผู้ที่รับทำ SEO หรือผู้ที่พอมีประสบการณ์ ในการทำ SEO มักจะนำผลจากค่าสถิติของตัวเอง มาวิเคราะห์ตั้งเป็นจุดสังเกตหรือข้อคิดทฤษฎีต่างๆ (ซึ่งตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น)
ต่อเนื่องจากบทความตอนที่แล้ว ► สอนทำ SEO ตอนที่ 1 : Real World SEO
ในบทความ สอนทำ SEO ตอนที่ 2 นี้ผมจะขอนำเอาบทวิเคราะห์ส่วนตัว ต่อการจัดลำดับเว็บของ Google มานำเสนอให้อ่านกันแบบสไตล์ง่ายๆ … สำหรับมือใหม่เราไปดูก่อนว่าหลังจากเราสร้างเว็บหรือโพสบทความลงเว็บเสร็จแล้ว Google จะมาทำอะไรบ้าง
Google ทำงานอย่างไร ? (แบบอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ)
อินเตอร์เนต เปรียบเสมือน ห้องสมุดสาธารณะ
เว็บไซต์ เปรียบเสมือน หนังสือเล่มหนึ่ง
Google เปรียบเสมือน บรรณารักษ์ของห้องสมุด
(อ่านเวอร์ชั่นอธิบายจาก Google ได้ที่ ► Google ค้นหาคำตอบให้คุณได้อย่างไร)
หลังจากที่คุณสร้างเนื้อหาในเว็บ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บใหม่ หรือ อัพเดทข้อมูลลงในเว็บเก่า
Google จะทำงาน 3 สเตปหลักๆ คือ Crawling – Indexing – Ranking
ขั้นตอนที่ 1 : Google เข้ามาเก็บข้อมูล (Crawling)
– การเข้ามาเก็บข้อมูลของ Googlebot จะเรียกว่า “Crawling” (บางครั้งจะเรียก Googlebot ว่าแมงมุม)
– หากเปรียบ “เว็บไซต์” เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง “หน้าโพส/เพจ” จะเปรียบเหมือน กระดาษหน้าหนึ่งในหนังสือ
– Google จะเข้ามาอ่านในทุกๆหน้า ทุกตัวอักษร ทั้งหมดของเว็บอย่างละเอียด
– แต่เนื่องจากเว็บไซต์ “พลิก” ไม่ได้แบบหนังสือ แต่อาศัยการ “คลิก” ลิงค์เพื่อเปลี่ยนหน้า
– ดังนั้น Googlebot จะอาศัย Links ในการอ่านข้อมูลในแต่ละหน้า
– ทำให้ Links (ลิงค์) เปรียบเสมือนเป็น “ประตู” หรือ “ทางเดิน” สำหรับ Bots
– Bots อาจจะมาจาก Links ที่คุณหรือใครไปวางไว้ตามเว็บไซต์อื่นๆ
– หรือ Bots อาจจะมาจาก การ Pinged ด้วย Blog Software
– หรือ Bots อาจจะมาจาก การที่คุณไป Summit – xml sitemaps ที่ Google Webmaster Tool
– Googlebot วิ่งไปมาตลอดอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็น Blogger หรือ WordPress หรือ Platform ตัวอื่นๆที่คุณใช้สร้างเว็บ
– ดังนั้น แม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำอะไรเลย แค่โพสข้อมูล … Googlebot ก็สามารถเก็บรายละเอียดไซต์ของคุณได้
– คุณสามารถกันไม่ให้ Googlebot เข้ามาเก็บข้อมูลในเว็บของคุณได้ด้วย robots.txt
– และคุณสามารถ “ปิดประตู” ป้องกันไม่ให้ Googlebot วิ่งไปตามลิงค์ ด้วยคำสั่ง rel=”nofollow”
(► รู้จักกับ Googlebot ที่ Google เขียนอธิบายไว้)
ขั้นตอนที่ 2 : Google นำข้อมูลที่ได้ไปขึ้นในดัชนี (Indexing)
– หลังจากเก็บข้อมูล (Crawling) แล้ว Google จะนำไปทำเป็นดัชนี
– เปรียบเสมือน Google ได้อ่านหนังสือจบแล้ว ก็จะนำไปวางเรียงในชั้นวางหนังสือ
– โดยการ Indexing ของ Google นั้น จะทำกับทุกๆหน้าเพจโดยยึดฐานตามลิงค์ต่างๆในเว็บไซต์ของเรา
– ปัจจัยในการ Indexing ของ Google จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
A กลุ่มปัจจัยที่ชัดเจน คือพวก Page Titles และ Link Data ต่างๆในแต่ละหน้า [เป็นสัญญาณตรง]
B กลุ่มปัจจัยที่ยังไม่ชัดเจน คือพวก Content ตัวบทความเนื้อหา [เป็นสัญญาณเสริม]
– การที่เว็บหรือหน้าเพจของเรา ถูก Indexed หมายความว่า Google ได้รู้จักกับเว็บของเราแล้ว (แต่ยังไม่ได้จัดอันดับ)
– วิธีการเช็คง่ายๆ ให้พิมพ์ใน Google ว่า “site:ชื่อเว็บของเรา” เช่น “site:www.webbastard.net”
– ก็จะสามารถเห็นว่า Google Indexed หน้าไหน ลิงค์ไหน ในเว็บไซต์ของเราไปแล้วบ้าง
– นอกจาก แต่ละหน้าเพจแล้ว Google ยัง Indexed “category” , “tag” , “attachment” (รูปภาพและไฟล์ต่างๆ) ด้วย
– ซึ่งผลการค้นหาที่คุณเห็นบน SERPs จะเป็น Cache ของ Google ไม่ใช่ข้อมูลล่าสุด (Title/Description) ของจริง หากคุณมีการอัพเดทต้องรอเวลา (แต่เนื้อหาเว็บที่เปิดจะเป็นล่าสุดของจริง)
ขั้นตอนที่ 3 : Google ทำการจัดลำดับและแสดงผล (Ranking)
– Google จะนำผล Indexed ที่ได้มาทำการประเมิน+กลั่นกรอง+เปรียบเทียบ และถึงแสดงผลเป็นลำดับออกมา
– ในเวลาที่คุณพิมพ์หาข้อมูล Google จะแสดงจำนวนผล Indexed ทั้งหมด เป็นข้อความบนสุด สีเทาๆ
• ยกตัวอย่างเช่น ผลการค้นหาประมาณ 74,700,000 รายการ (0.26 วินาที)
• หรือภาษาอังกฤษจะเห็นเป็น About 74,700,000 results (0.26 seconds)
– แต่ในความเป็นจริงตามปกติ Google จะแสดงผลอย่างมากเพียงแค่ประมาณ 20 – 40 รายการ (20-40 หน้า)
– คุณสามารถขยายโหมดการดูผลได้ แต่ Google ก็จะแสดงสูงสุดเพียงประมาณ 600 – 900 รายการ (60-90 หน้า)
– โดยรายการที่นำมาแสดงนั้น คือ คำตอบที่จะนำไปสู่เนื้อหา ที่ Google เห็นว่ามีคุณภาพและมีประโยชน์ ต่อผู้ค้นหา
ด้วยเหตุที่จำนวนของเว็บที่ Indexed นั้นมีมากมาย ดังนั้นหลังจากที่เว็บของเราถูก Google Indexed แล้ว (รู้จักเราแล้ว) มันจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อกลั่นกรองเอาหน้าเพจที่ดีที่สุด ในแต่ละการค้นหา มานำเสนอต่อผู้ที่ค้นหา ซึ่งต้องผ่านกระบวนการต่างๆมากมาย โดยตัวที่ จะมากลั่นกรองและจัดอันดับเว็บ เรียกกันว่า Google Algorithm
อัลกอริทึม คือ กระบวนการและสูตรของคอมพิวเตอร์ที่ Google นำคำถามของผู้ค้นหามาเปลี่ยนให้เป็นคำตอบ โดย Google ใช้สัญญาณหรือปัจจัย ที่ไม่ซ้ำกันมากกว่า 200 สัญญาณ ที่ช่วยทำให้สามารถเดาได้ว่าแท้จริงแล้ว ผู้ค้นหาต้องการค้นหาอะไร แล้วจึงแสดงผลคำตอบที่ดีที่สุดออกมา
ดังนั้นการทำ SEO แท้จริงแล้ว คือการทำความเข้าใจและส่งสัญญาณ เพื่อบอกกับ Google ว่าเว็บเพจของเรานั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่มันควรจะนำมาแสดงให้คนค้นหาดูนั่นเอง
(ดูสัญญาณที่ Google ใช้ในการจัดอันดับล่าสุด ► Google Rank Factor 2014 – 2015)
(ดูปัจจัย 200 อย่าง จากเว็บไซต์ backlinko ► Google’s 200 Ranking Factors)
เข้าใจ Google และการทำ SEO แบบเด๊ะๆ
ผมขอสารภาพตามตรงว่า ผมพึ่งจะได้มาอ่าน ปัจจัย 200 อย่างที่ Google ใช้จัดอันดับก็ตอนที่มาเขียนบทความนี้ (ฮาฮา) ดังที่ได้เกริ่นไว้ในตอนแรก ผมมักจะสังเกตข้อมูลต่างๆจากผลงานของตัวเองแล้วนำมาวิเคราะห์และคาดเดา (มั่วนิ่ม)
ซึ่งข้อสังเกตต่างๆ ที่ผมมองเห็น (แบบภาพรวม) ที่เป็น หัวใจของการทำ SEO มี 2 อย่างคือ Content และ Traffic
(ประมาณว่า 200 ปัจจัยอารัยหนูไม่รู้ … หนูรู้อยู่แค่ 2 ปัจจัย 5555+ เด๊ะๆ มากน้อง!!)
ที่ผ่านมา การทำ SEO ของผม ส่วนใหญ่จะคิดเองเออเอง เพราะผมไม่ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่อง SEO ตามแหล่งข้อมูลต่างๆเลย (หนังสือก็ไม่ได้อ่าน เว็บก็ไม่ได้อ่าน บอร์ดก็ไม่ได้เล่น) ประมาณว่า ผมทำ SEO แบบคนที่ไม่รู้เรื่องการทำ SEO (แค่รู้ว่าปรับ Onpage พื้นฐานยังไงเท่านั้น …)
โดยสิ่งที่ผมทำ คือ การสร้างเว็บและการสร้าง Content เป็นหลัก แต่เพียงแค่นั้น มันกลับทำให้ติดอันดับบน Google ได้ (นี่เป็นเหตุผลที่ การรับทำ SEO ที่ผ่านมา ผมไม่เคยคิดเงิน เพราะผมไม่เคยคาดหวังว่าจะไปเร่งรัด หรือ การันตีอันดับใดๆ เพียงทำเท่าที่รู้ และ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ)
ซึ่งหลังจากพอหน้าเว็บติดอันดับแล้ว ผมมาสังเกต การเคลื่อนไหวในอันดับของหลายๆ Keyword จากหลายๆเว็บที่ผมทำ และนำมาวิเคราะห์ เพื่อเดาใจ Google ไปเรื่อยๆ แล้วค่อยๆมา ปรับแก้พัฒนาการทำ SEO ของตัวเอง (คือ เรียนรู้จาก การลงมือปฎิบัติจริงๆ)
โดยอาศัยแนวคิดหรือนโยบายหลักคือ
เป้าหมายของ Google
= การแสดงเว็บที่มีคุณภาพ ที่มีประโยชน์ ที่เป็นคำตอบที่ดีที่สุด ต่อผู้ค้นหา
เป้าหมายของ การทำ SEO
= ทำความเข้าใจและส่งสัญญาณ เพื่อบอกกับ Google ว่าเว็บของเรามีคุณภาพ มีประโยชน์ ต่อผู้ค้นหา
แม้ผมจะทำ SEO มากว่า 2 ปีแล้ว หลายเว็บ หลาย Keyword ติดอันดับ แต่ผมกลับรู้สึกว่า ผมยังเป็นมือใหม่มากๆจริงๆ (ยังแบบว่า เด๊ะๆ อยู่) โดยหลังจากมาเริ่มเขียนบล็อก Webbastard.net นี้ ทำให้ผมตั้งใจเริ่มต้นศึกษา SEO อย่างจริงจัง แบบเป็นทางการ เพื่อหวังจะนำข้อมูลมาเสนอให้เกิดประโยชน์จริงๆ แก่ผู้อ่าน
(จะมาเด๊ะๆไม่ได้แล้ว เพราะมีคนอ่าน ไม่ได้มโนเพียงลำพังแล้ว >.< ชวนคนอื่นมา มโน ด้วย ฮาฮา)
ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผมอ่านเว็บของต่างประเทศ ที่เกี่ยวกับ SEO มากมาย เข้าไปฟัง Free Webinar จากหลายๆแห่ง ติดตามอ่านบล็อกของผู้เชี่ยวชาญ SEO ต่างชาติหลายๆคน … ทำให้ยิ่งตอกย้ำว่า ที่ผ่านมา ผมอ่อนหัดจริงๆเลย 😛 (แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้นนิสสสนึงละ หาความรู้เพิ่มเติมมาแล้ว)
วันนี้ผมจะมาขอ สอนทำ SEO จากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีต่อ Google แบบชาวบ้านๆ (โดยขอนำมาผสมกับความรู้และศัพท์ทางวิชาการเล็กน้อย จากที่ผมพึ่งได้ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมมา เพื่อไม่ให้ดูอ่อนหัดจนเกินไป 5555+) โดยจะขอสรุปเป็นลักษณะ Q/A ถาม-ตอบ ดังต่อไปนี้
ถามตอบปัญหาคาใจ เรื่อง “การจัดอันดับเว็บของ Google และ การทำ SEO”
[ !!! คำเตือน !!! : บทความที่ท่านกำลังจะอ่านต่อจากนี้เป็นเพียง “มโน”
(อย่างมีเหตุมีผลและหลักการ) ดังนั้นโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ]
1. ปัจจัยอะไรที่ Google นำมาใช้ในการจัดลำดับ ?
ตอบ : เอาแบบภาพรวม มี 2 อย่างคือ Content และ Traffic โดยมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ
คุณภาพเนื้อหา + ความมีประโยชน์ของเนื้อหา + ความมีชื่อเสียงของเว็บไซต์ + ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาและเว็บไซต์
คะแนนคุณภาพเพจ = Page Quality Rating (PQ)
คะแนนความมีประโยชน์ = Utility Rating (หรือในภาษา Google จะเรียกค่านี้ว่า Block Utility Rating หรือ BU)
คะแนนความมีชื่อเสียง = Website Reputation
คะแนนความน่าเชื่อถือ = Expertise / Authoritativeness / Trustworthiness (E-A-T)
กฎของ Google คือจะพยายามค้นหาหน้าเพจที่ มีทั้งชื่อเสียงและมีความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ค้นหาเป็นหลัก
Content = เนื้อหา (เนื้อหาดี แสดงว่ามีคุณภาพ มีประโยชน์ มีความน่าเชื่อถือ)
ส่งสัญญาณถึง Google ในเรื่อง –> PQ , BU และ E-A-T
[อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ► Page Quality Rating และ Utility Rating ]
Traffic = จำนวนคนเข้าเว็บ (คนเข้าเยอะแสดงว่า มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ)
ส่งสัญญาณถึง Google ในเรื่อง –> Website Reputation และยังสื่อทางอ้อมถึง E-A-T ด้วย
[รออ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Web Traffic – ในตอนต่อๆไป]
2. พื้นฐานอะไรที่จะทำให้เว็บติดอันดับดีๆใน Google ?
ตอบ : ในการจัดอันดับของ Google จะมีการให้คะแนนคุณภาพของหน้าเว็บ (Page Quality Rating) และคะแนนคุณประโยชน์ของหน้าเว็บ (Utility Rating) ดังนั้นเราพื้นฐานสำคัญ คือ เราต้องทำเว็บให้ มีเนื้อหาที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อผู้ค้นหา ถึงจะมีโอกาสติดอันดับใน Google (SERPs) ได้
3. เนื้อหาที่มีคุณภาพ (Quality Content) มีลักษณะยังไง ?
ตอบ : เนื้อหาที่มีคุณภาพ (Quality Content) คือ เนื้อหาที่ตรงกับจุดประสงค์ของการที่สร้างหน้า (โพส/เพจ/เว็บ) นั้นขึ้นมา และมีความสอดคล้องกับคำค้นหา อีกทั้งยังทำให้คนอ่านรู้สึกว่าได้รับประโยชน์ เช่น
– ถ้าเป็นหน้าสินค้า จุดประสงค์คือ ให้ข้อมูลสินค้า
ดังนั้นต้องบอกรายละเอียดที่ชัดเจน ครอบคลุม (แบบคนอ่านแล้วไม่ต้องถามอะไรเพิ่ม โทรสั่งเลย)
– ถ้าเป็นหน้าบริการ จุดประสงค์คือ ให้ข้อมูลบริการ
ดังนั้นต้องบอกรายละเอียดที่ครบถ้วน (แบบคนอ่านแล้วไม่ต้องถามอะไรเพิ่มมาก โทรมาขอรับบริการเลย)
– ถ้าเป็นรีวิว จุดประสงค์คือ ให้ความคิดเห็นต่อสิ่งที่รีวิว
ดังนั้นต้องเขียนในลักษณะ In-Depth เจาะลึก วิเคราะห์ แยกหัวเรื่องให้อ่านง่าย (มีคลิปฝั่งคลิป มีรูปติดรูป)
– ถ้าเป็นสาระความรู้ จุดประสงค์คือ ให้ข้อมูลความรู้
ดังนั้นต้องเขียนให้คนอ่าน เกิดความเข้าใจและได้รับประโยชน์จริงๆ
[ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ► Quality Content ในสายตาของ Google ]
#Bonus# (ผลงานบางส่วนที่ผมทำ จริงๆไม่อยากหยิบมานำเสนอแต่ คิดว่าผู้อ่านดูแล้วน่าจะรับได้ประโยชน์ เพราะสามารถใช้ศึกษา เพื่อเป็นแนวทาง หรือเป็นไอเดียที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้ ในการสร้าง Content แบบคุณภาพ)
ยกตัวอย่างเนื้อหาที่มีคุณภาพ (ข้อมูลอันดับของวันที่ 1 เมษายน 2558) เช่น
– [blog คืออะไร] อยู่อันดับ 1 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์เพื่อตอบคำถาม และให้ความรู้
– [wordpress คืออะไร] อยู่อันดับ 4 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์เพื่อตอบคำถาม และให้ความรู้
– [อยากสอบติด] อยู่อันดับ 1 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์เพื่อตอบคำถาม และให้ความรู้
– [Cover Dance คือ] อยู่อันดับ 1 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์เพื่อตอบคำถาม และให้ความรู้
– [แก่นแท้พุทธศาสนา] อยู่อันดับ 4 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์ให้สาระความรู้
– [พิธีงานศพ] อยู่อันดับ 1 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์ให้สาระความรู้
– [ล้างพิษตับ] อยู่อันดับ 1 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์ให้สาระความรู้
– [ร้านตัดรองเท้า] อยู่อันดับ 2 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์ให้ข้อมูลการบริการ
– [เครื่องนวดสลายไขมัน] อยู่อันดับ 4 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์เป็นรีวิวสินค้า
– [รองเท้าพยาบาล] อยู่อันดับ 8 … แนวหน้าเพจที่จุดประสงค์แนะนำสินค้า (แบบไม่ใช่ระบบ Ecommerce)
Tips #1 : ถ้าคุณได้ดูทุกหน้าจากตัวอย่างข้างบน คุณจะได้แนวทาง … ถ้าคุณดูโครงสร้างเว็บจากตัวอย่างข้างบนด้วย คุณจะได้ไอเดีย และถ้าคุณนำแนวทางและไอเดียไปลองปรับใช้ … การทำ SEO ด้วยตัวเอง อาจจะไม่ใช่เรื่องยากเกินไปนัก !! (Onpage SEO ที่หลายคนชอบถามๆกันมา ก็ดูจากตัวอย่างเหล่านี้แระ รับรองว่า ปิ๊งเลย!! 🙂 )
Tips #2 : หลังจากโพสบทความแล้วลองสมมติตัวเองเป็นผู้อ่าน (ไม่ใช่ผู้เขียน) แล้วอ่านดูว่ามันดีหรือเปล่า ? มีประโยชน์หรือเปล่า ? เขียนแค่นี้พอหรือยัง ? ข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ ? รูปภาพและการจัดวางเนื้อหาโอเคแล้วหรือยัง ? Content ที่สร้างมันตรงกับ Topic หรือเปล่า ? อ่านแล้วตัวเรารู้สึกอย่างไร ?? ลองเปรียบเทียบกับคู่แข่งดูสิว่าเค้ามี Content อย่างไร ถึงติดอันดับดีๆได้ !!
4. บทความที่เขียน จำเป็นต้องยาวหรือไม่ ?
ตอบ : บทความไม่จำเป็นต้องยาว เพราะ Google จะตัดสินโดยดูจากความมีประโยชน์ของเนื้อหา (Utility Rating) เป็นหลัก … แต่โดยปกติแล้ว บทความที่มีความยาว จะส่งสัญญาณต่อ Google ดีกว่าบทความสั้นๆ (แต่ยังไงก็ควรทำให้อ่านง่ายต่อคนอ่านด้วย เช่น การจัดย่อหน้า พารากราฟ ขนาด-สี ตัวอักษร หัวข้อย่อย เป็นต้น)
ยกตัวอย่างบทความสั้นๆ แต่ติดอันดับ (ข้อมูลอันดับของวันที่ 1 เมษายน 2558) เช่น
– [กำหนดการสอบ smart1] อยู่อันดับ 3 ทั้งๆที่เนื้อหาน้อยมาก
– [เครื่องเย็บกล่อง] อยู่อันดับ 2 ทั้งๆที่แถบไม่มี TEXT ที่เป็นบทความ แต่ติดอันดับหน้า Homepage เลย
– [ไลโปโซม] อยู่อันดับ 2 ทั้งๆที่มีบทความแค่ 2 พารากราฟ
5. ทำอย่างไรให้เว็บติดอันดับ Google ในหน้าแรก ?
ตอบ : ทำเนื้อหาของเราให้มีคะแนนคุณภาพ+คุณประโยชน์ สูงกว่าคู่แข่ง (คู่แข่ง คือ เว็บเพจที่มีเนื้อหาอยู่ในเกณฑ์คะแนนใกล้เคียงหรือดีกว่าเรา โดยจะเน้นคู่แข่งที่อยู่ในอันดับดีกว่าเรา) ซึ่งหากคู่แข่งมีจำนวนมากและมีคะแนนสูงกว่า โอกาสที่เราจะติดหน้าแรกได้ก็จะยิ่งยากหรือใช้เวลานานกว่า
6. ทำอย่างไรให้เว็บติดอันดับ 1 – 5 ใน Google ?
ตอบ : หากเว็บของเราติดหน้าแรก Google แล้ว นั่นหมายความว่า หน้าเพจของเรามีคะแนนคุณภาพและคะแนนความมีประโยชน์สูง ในสายตาของ Google แต่การจะขยับขึ้นไปอยู่ Top 5 ได้ จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บของเรา เพราะ
หากกรณีที่คะแนนคุณภาพเนื้อหาของเว็บเพจ 2 เว็บ มีค่าเท่ากัน Google จะเลือกแสดงเว็บ ที่มีความเก่าแก่ และมีชื่อเสียงก่อน
7. ทำไมอันดับถึงอยู่หน้า 2 – 7 ใน Google และไม่ยอมขยับขึ้นเลย ?
ตอบ : ในบางครั้ง อันดับเราไม่ขยับขึ้นเลย หรือขยับช้ามาก สันนิษฐานได้ว่า เป็นเพราะคู่แข่งของเรานั้นมี ปัจจัย 4 อย่างที่มากกว่าเรานั่นเอง หมายความว่า คุณภาพของเนื้อหาในหน้าเพจของเรายังสู้คู่แข่งไม่ได้ หรือ หากมั่นใจว่าคุณภาพเราสู้ได้ นั่นหมายความว่าจำนวนคนเข้าเว็บของเรา อาจจะยังไม่มากพอ หรือ เว็บเพจของเรายังใหม่เกิน (ยังขาดความมีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ)
ในความเป็นจริงนั้น ปัจจัย 4 อย่างจะถูกนำมาใช้ ในการจัดอันดับทั้งหมด ไม่ว่าเราจะอยู่อันดับในหน้าไหนก็ตาม
คุณภาพเนื้อหา + ความมีประโยชน์ของเนื้อหา + ความมีชื่อเสียงของเว็บไซต์ + ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาและเว็บไซต์
(โปรดอ่านและทำความเข้าใจ ในข้อ 1 และ 6 อีกครั้ง และรออ่านในข้อ 9)
8. ทำ SEO ไม่จำเป็นต้องสร้าง Backlinks หรอ ?
ตอบ : Backlinks หรือ ลิงค์จากภายนอกเข้ามาสู่เว็บเพจ เปรียบเสมือนเป็นประตูทางเข้าเว็บ ถ้าไม่มีประตู ก็ไม่มีทางเข้า ดังนั้น Backlinks ยังมีความจำเป็น (แต่จะไม่เหมือนสมัยก่อน)
ในมุมมองของผม การสร้าง Backlinks เป็นส่วนหนึ่งของการหา Traffic นั่นเอง
[รออ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Traffic – ในตอนต่อๆไป]
9. ระยะเวลาของการติดอันดับบน Google ขึ้นอยู่กับอะไร ?
ตอบ : ระยะเวลาในการติดอันดับบน Google จะช้าหรือเร็ว ยากหรือง่าย ขึ้นอยู่กับ คู่แข่ง !! ด้วยเหตุที่จำนวนของเว็บที่ Indexed นั้นมีมากมาย ในแต่ละ Keyword ดังนั้นหลังจากที่เว็บของเราถูก Google Indexed แล้ว (รู้จักเราแล้ว) มันจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อนำมาจัดเรียงลำดับ
(ผมมโนเองจากประสบการณ์) ในการจัดอันดับเว็บของ Google น่าจะแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ
ระยะที่ 1 – ระยะวัดคุณภาพ
ระยะที่ 2 – ระยะวัดคุณภาพ + คุณประโยชน์
ระยะที่ 3 – ระยะวัดคุณภาพ + คุณประโยชน์ + ชื่อเสียง + ความน่าเชื่อถือ
9.1 ระยะที่ 1 : วัดคุณภาพเว็บเพจ “Page Quality” (PQ)
หากนำ การจัดอันดับของ Google มาเปรียบกับการแข่งขันประกวดร้องเพลง ก็เข้าทำนองที่ว่า มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันมากมาย ทำให้ทีมงานจำเป็นต้อง ทำการคัดเลือก (Audition) เพื่อหาผู้เข้าสมัครที่มีคุณสมบัติดีพอ ที่จะผ่านไปสู่รอบแข่งขันบนเวทีจริงในรอบต่อไป
(คือ เข้ารอบได้แข่งบนเวทีจริง ก็เหมือนกับ การได้ติดอันดับบนหน้า SERPs ใน Keyword/Query ที่เราต้องการนั่นเอง)
ขั้นตอน : การประเมินสำหรับช่วงแรกนี้ Google แบ่งผลออกเป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่ม A – หน้าที่มีคุณภาพ หรือ เข้าตากรรมการ
–> คุณจะได้เข้ารอบไปสู่รอบต่อไป !! (ได้ไปแข่งในเวทีจริง – ติดหน้า SERPs)
กลุ่ม B – หน้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือ ไม่เข้าตากรรมการ
–> คุณยังไม่ผ่าน ตกรอบคัดตัว (อดแสดงบนเวทีจริง – ไม่ติดหน้า SERPs)
9.2 ระยะที่ 2 : วัดคุณภาพเว็บเพจ (Page Quality Rating) และคุณประโยชน์เว็บเพจ (Utility Rating)
หลังจากเราผ่านรอบแรกมาได้ หมายถึง ในสายตา Google เว็บเพจของเรามีคุณภาพก็จะถูกนำมาประเมินในระยะที่สอง คือดูว่า เรามีคุณภาพมากแค่ไหน ร่วมถึง มีคุณประโยชน์มากแค่ไหน โดยนำคะแนนมาเปรียบเทียบแข่งกันกับเว็บอื่นๆ ในกลุ่มที่มีคุณภาพเหมือนกัน (คู่แข่งที่ผ่านรอบ Audition มาแบบเรา) โดยใน ระยะที่สองนี้ Google จะนำเรื่องของ คำค้นหา (Query) เข้ามาเป็นตัวแปรที่สำคัญ
ที่นี้ผมอยากให้ลองมาเปรียบเทียบ การจัดอันดับของ Google กับ การแข่งขันฟุตบอลลีกของอังกฤษ
(ร้องเพลงเสร็จก็มาเตะบอลกันต่อเลยนะ 555+)
– ในการจัดลำดับระยะสองนี้ จะมีคะแนนที่ Google ให้ โดยจัดลำดับเป็นกลุ่มๆ เป็นระดับๆ (เช่น เกรด A B C D E และ F)
– กลุ่ม Highest เว็บคุณภาพเกรด A (เปรียบได้กับ ฟุตบอลลีคสูงสุด คือ พรีเมียร์ลีก)
– กลุ่ม High เว็บคุณภาพเกรด B (เปรียบได้กับ ฟุตบอลลีก แชมเปียนชิพ)
– กลุ่ม Intermediate เว็บคุณภาพเกรด C (เปรียบได้กับ ฟุตบอลลีกวัน)
– กลุ่ม Low เว็บคุณภาพเกรด D (เปรียบได้กับ ฟุตบอลลีกทู)
– กลุ่ม Lowest เว็บคุณภาพเกรด E (เปรียบได้กับ คอนเฟอเรนซ์ พรีเมียร์)
– กลุ่ม ไร้คุณภาพ เว็บเกรด F (เปรียบได้กับยังไม่ดีพอต่อการแข่งขันระดับมืออาชีพ)
ยกตัวอย่างเช่น สมมติในการแข่งขัน มีผู้ที่คุณสมบัติสามารถผ่านเข้ารอบได้ 600 เว็บ
– หมายความว่า Google จะแสดงอันดับ 1 – 600 บน SERPs (หรือ 60 หน้าของ Google)
– เว็บเพจเกรด E (ต่ำสุด) สมมติมี 200 เว็บ ก็จะถูกแสดงในลำดับ 401 – 600
– เว็บเพจเกรด D (ต่ำ) สมมติมี 100 เว็บ ก็จะถูกแสดงในลำดับ 301 – 400
– เว็บเพจเกรด C (ปานกลาง) สมมติมี 150 เว็บ ก็จะถูกแสดงในลำดับ 151 – 300
– เว็บเพจเกรด B (ดี) สมมติมี 100 เว็บ ก็จะถูกแสดงในลำดับ 51 – 150
– เว็บเพจเกรด A (ยอดเยี่ยม) สมมติมี 50 เว็บ ก็จะถูกแสดงในลำดับ 1 – 50
ในกรณีที่คุณพึ่งสร้างเว็บเพจใหม่ หรืออัพเดทบทความใหม่ๆลงในเว็บเก่า … ถ้าหากคุณภาพของเนื้อหาของคุณดี
คือ มีความสอดคล้องกับคำค้นหา มีความสดใหม่ไม่ซ้ำกับใคร อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อคนค้นหา
หาก Google ประเมินแล้ว คุณอยู่ในระดับ C (ปานกลาง) เว็บเพจของคุณ จะถูกนำไปวางไว้ในตำแหน่ง เริ่มต้นที่ 300
(เว็บอื่นๆที่ต่ำกว่า 300 ก็จะถูกจัดลำดับลดลงไป 1 อันดับ)
หาก Google ประเมินแล้ว คุณอยู่ในเกรด A (ยอดเยี่ยม) เว็บเพจของคุณ จะถูกนำไปวางไว้ในตำแหน่ง เริ่มต้นที่ 50
(เว็บอื่นๆที่ต่ำกว่า 50 ก็จะถูกจัดลำดับลดลงไป 1 อันดับ)
#หมายเหตุ : ข้อสันนิษฐานนี้ ผมมั่วเองจากประสบการณ์ที่ทำมาหลาย Keyword และคอยสังเกตการณ์
คือยกตัวอย่าง แบบอยากให้เห็นภาพชัดเจน อ่านแล้วค่อยๆนึกภาพตาม แต่ อย่าอินมากนะครับ 555+
9.3 ระยะที่ 3 – ระยะวัดคุณภาพ + คุณประโยชน์ + ชื่อเสียง (Web Reputation) + ความน่าเชื่อถือ (E-A-T)
หลังจากที่คุณได้ตำแหน่งเริ่มต้น โดย Google ประเมินและเลือกจัดว่าเว็บของคุณมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันกับกลุ่มไหน ถ้าคุณภาพของคุณดี ก็จะอยู่ในกลุ่มหรือลีกสูงๆ ซึ่ง คุณจำเป็นต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่เก่งๆ หรือแข่งขันกับทีมดังๆ (เว็บใหญ่ๆที่เนื้อหาดีๆและดังๆ)
อธิบายแบบให้เห็นภาพ ดังนี้
[ ช่วง 1 – 3 เดือนแรก ]
– สมมติว่า Google ประเมินเว็บเพจของคุณแล้ว มีคุณภาพ จัดอยู่ในกลุ่ม A (ยอดเยี่ยม)
– มีคู่แข่งใน Keyword ที่อยู่ในกลุ่ม A นี้ 20 เว็บเพจ คุณซึ่งเป็นน้องใหม่ ที่ถูกจัดมาอยู่ที่ 20
– ระยะเวลาช้าหรือเร็วในการนำแสดงผล ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจน (ขึ้นอยูกับคู่แข่งเป็นหลัก)
– แต่โดยปกติ เฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 – 3 เดือน หลังจากโพสข้อมูลลงเว็บ
– ในกลุ่ม A นี้ หมายถึง คุณภาพและคุณประโยชน์ของ Content ทุกๆเว็บเพจ (คู่แข่ง) มีมาตรฐานใกล้เคียงกันหมด
– ดังนั้น Google จึงเลือกดูที่ความมีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของเว็บเพจ มาเป็นตัวเสริมเข้ามา
– Google จะเลือกแสดงผล โดยจัดลำดับ เว็บที่เก่าแก่ เว็บใหญ่ๆ หรือ เว็บที่มีชื่อเสียง ไว้อันดับต้นๆก่อน
– แต่ในกรณีที่ Content ของคุณ มีความโดดเด่นสุดๆ แม้จะเป็นน้องใหม่ แต่มีศักยภาพดีพอที่จะล้มรุ่นพี่ได้
– Google จะค่อยๆดันอันดับของเว็บเพจคุณขึ้นมาอย่างช้าๆ (ไม่มีการกระโชกโฮกฮากดันอันดับแบบพุ่งพรวด)
– เพราะ Google ยังคงให้เกียรติเว็บของรุ่นพี่ เว็บเก่าแก่ เว็บใหญ่ และเว็บดัง เว็บที่มีชื่อเสียงอยู่
[ ช่วง 3 – 6 เดือนถัดมา ]
– เมื่อ Google จัดอันดับเว็บของคุณให้มาอยู่หน้า 1 – 2 แล้ว หมายความว่า มันให้โอกาสที่คุณจะสร้างชื่อเสียง !!
– ณ จุดๆนี้ Traffic จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้อันดับของคุณขยับสูงขึ้นได้
– ไม่ว่าที่มาของ Traffic จะมาจากแหล่งเสริมต่างๆที่คุณวางลิงค์ไว้ เช่น Social Media / Website อื่นๆ / Blog / ฯลฯ
– หรือมาจาก แหล่งหลัก คือ ตัว Google SERPs เองก็ตาม (Organic Search) Google จะเก็บข้อมูลเอาไว้ทั้งสิ้น
– แต่ Google จะให้น้ำหนักกับ Traffic ที่มาจาก Organic Search มากกว่า Traffic ที่มาจากแหล่งอื่น
– ดังนั้น การเขียน TITLE และ Meta Description จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ คนเลือกคลิกมากขึ้น จากหน้า SERPs
– การโปรโมทยิ่งมากเท่าไหร่ และมีคนเข้ามาอ่านหน้าเว็บมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อ Google
– โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่คุณขึ้นอันดับ 1 ได้ใหม่ๆ Traffic จะเพิ่มขึ้นหลายร้อยหลายพัน % เลยทีเดียว (ผมผ่านมาแล้ว)
– นี่คือสาเหตุว่า ทำไม เว็บที่อยู่อันดับ 1 – 3 ที่ทำ SEO สายคุณภาพ (สายขาว) จึงติดอันดับ อยู่ยาวนานเป็นแรมปี
– เพราะคนเลือกที่จะคลิก อันดับ 1 – 3 มากกว่า จึงเป็นการเพิ่ม Traffic จาก Organic Search ให้กับเว็บเพจนั้น
– ประกอบกับ Content ที่อยู่ในระดับสูงสุด Highest Rate ทั้ง Page Quality Rating และ Utility Rating
– ตราบใดที่ไม่มี “น้องใหม่” ที่มีคุณภาพดีมากพอ Content ที่ดีพอ และมี Traffic มากพอจะมาแข่งขันด้วย … ร่วงยาก
กล่าวโดยสรุปในเรื่อง ระยะเวลาของการติดอันดับใน Google
โดยประมาณ 0 – 1 เดือนแรก : Indexed และรอจัดกลุ่ม [เน้น Content]
โดยประมาณ 1 – 3 เดือนต่อมา : จัดกลุ่มและรอไต่อันดับ [เน้น Content + Traffic]
โดยประมาณ 3 – 6 เดือนต่อมา : ทำการแข่งขันเพื่อเลื่อนอันดับ [เน้น Traffic]
10. การวิเคราะห์ Keyword จำเป็นหรือไม่ ?
ตอบ : “คำค้นหา” เป็นสิ่งจำเป็น ที่ขาดไม่ได้ ในการทำ SEO
เพราะ “คำค้นหา” มันคือ “คำถาม”
ส่วนการทำ SEO คือ การทำให้เว็บของเราเป็น “คำตอบ”
ในมุมมองของคนทำ SEO มักจะใช้คำว่า “Keyword” แทนคำค้นหา แต่ในมุมมองของ Google จะใช้คำว่า “Query”
– Keyword เป็นพยางค์ หรือกลุ่มคำ ที่เป็นไอเดียของ Search Query
– Query หรือ Search Query เป็น คำที่ User ใช้ในการค้นหาจริง
เรื่อง Keyword เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ แต่อย่ายึดติด !! ต้องทำความเข้าใจ แต่อย่าไปลุ่มหลง !!
[รออ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Search Query / Keyword Analysis – ในตอนต่อๆไป]
11. เนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษต่างกับเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยอย่างไร ?
ตอบ : (คำถามนี้สำหรับคนที่กำลังทำ Amazon หรือ Affiliate นอกตัวอื่นๆอยู่) ปัจจัยที่ใช้ในการจัดลำดับ หรือระยะเวลา จะใช้หลักการเหมือนกัน (อาจจะเพิ่มปัจจัยในส่วนของ Locale/Location เข้ามา) เพียงแต่ว่า เนื่องจาก ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสากล ที่ใช้กันทั่วโลก ทำให้คู่แข่งที่มีคุณภาพ จะมีจำนวนมาก และผู้ที่ทำ SEO หรือ ผู้ที่สร้าง Content ก็จะเก่งมากๆ ดังนั้น ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดลำดับจะนานกว่า หรือ โอกาสที่เราจะติดอันดับดีๆ จะทำได้ยากกว่า Content ที่เป็นภาษาไทย
(เว็บไซต์ของต่างชาติ ใน Keyword ที่มีอัตราการแข่งขันสูง … คู่แข่งที่ติดอันดับต้นๆ มักจะมี E-A-T ที่สูงมาก Content ก็จัดอยู่ในระดับ Highest และ Traffic ก็หากันเก่งมากๆ … จากประสบการณ์ที่ผมทำ บอกเลยว่า ยากมาก หากคุณเป็นมือใหม่ แต่ก็ใช่ว่าหนทางจะมืดมน)
โดยมากสำหรับ Content ภาษาอังกฤษ จะแข่งกันในเรื่องของ Traffic หากเราหา Traffic เก่งก็มีโอกาสแข่งขันเอาชนะฝรั่งได้เช่นกัน หรือ อีกกรณีหนึ่งคือ เราต้องสร้าง Content จาก Query / Keyword ที่มีคู่แข่งจำนวนน้อยๆ โอกาสก็จะสูงในการทำอันดับ
🙂 🙂 🙂
ผมขออนุญาตจบเพียงเท่านี้ก่อน จริงๆยังมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับ Google เกี่ยวกับการทำ SEO ที่เป็นคำถามสำคัญๆ โดยเฉพาะกับมือใหม่ !! แต่ผมคิดว่ามันจะยาวเกินไป (จนควรจะไปใส่ในหนังสือ หรือ Ebook เหมาะกว่าจะทำเป็นบทความให้อ่าน)
[ !!! คำเตือน !!! : บทความที่ท่านอ่านจบไปแล้วข้างต้นเป็นเพียง “มโน”
(อย่างมีเหตุมีผลและหลักการ) ดังนั้นโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ]
บทสรุป สอนทำ SEO (ตอน 2 : เข้าใจ Google)
ในการจัดอันดับของ Google มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใคร จะสามารถคาดการณ์หรือคาดเดาได้อย่างถูกต้องจริงแท้แน่นอน 100% ทฤษฎีต่างๆ รวมไปถึงขั้นตอนการปฎิบัติ ไม่ว่าจะหยิบยก Case Study ที่ทำให้เกิดการวิเคราะห์ไปได้ต่างๆนานา ผ่านประสบการณ์ ในการทำ SEO สำเร็จมามากน้อยแค่ไหนก็ตาม ….
ในความเป็นจริงท้ายสุดแล้ว สิ่งที่คนทำ SEO หรือผู้ที่รับทำ SEO จะทำได้ คงเหลือเพียงแค่ 2 อย่าง คือ สนองตอบ และ ตาม Google ให้ทัน เพราะ “Google มันมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา“
ไม่ว่าจะเป็น การทำเว็บ การสร้าง Content การเขียนบทความ การออกแบบ การทำ SEO
สิ่งสำคัญที่สุด ที่เราต้องโฟกัส คือ “มนุษย์” มิใช่ “Google บอท“
(Google ให้เด๊ะๆ ทำความเข้าใจกันต่อไป ส่วนผู้ใหญ่ไปทำความเข้าใจกับ มนุษย์ กันดีกว่า 5555+)
Eric Schmidt, Executive Chairman ของ Google ได้กล่าวข้อความตอนหนึ่งไว้ว่า
“Google is for USERS – not websites. Google wants to offer the best to it’s USERS – not to each of us site owners. If webmasters don’t like where they rank – tough. But if USERS don’t like the results they find – BIG problem.”
Google มีไว้สำหรับ คนค้นหา – ไม่ใช่เว็บไซต์
Google ต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดกับ คนค้นหา – ไม่ใช่เจ้าของเว็บไซต์
ถ้าคนทำเว็บ ไม่ถูกใจในอันดับ – อันนี้งานยาก (สำหรับ Google)
แต่ถ้าคนค้นหา ไม่ถูกใจในผลของการค้นหา – อันนี้งานใหญ่ !!!!
JoJho
คนทำเว็บนอกคอก
Note:
☺ หากใครที่มีคำถามสงสัย สามารถส่งคำถามเข้ามาที่ Inbox Message ใน FB เพจได้นะครับ ผมอาจจะรวบรวมแล้วนำมาเขียนตอบอธิบาย ในลักษณะ FAQs แบบนี้ … เพราะคำถามของท่าน อาจจะเป็นประโยชน์กับใครอีกหลายคน ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบ … สวัสดีครับ